พันธมิตร: เป้าหมายหรือวิธีการ
“พันธมิตร: เป้าหมายหรือวิธีการ”*
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
การขับเคลื่อนและพัฒนา สังคมสุขภาวะ เป็นงานระยะยาว จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่นศรัทธาเป็นแรงขับดัน บางทีตลอดชีวิตเราอาจไม่ทันได้เห็น แต่เราก็ยังคงเชื่อว่า ตราบใดที่ทิศทางถูกต้อง ยิ่งเดินจะยิ่งใกล้เป้าหมายเข้าไปทุกที
คนที่เป็นนักเดินทางย่อมรู้ดีว่าเพื่อนร่วมทางมีความสำคัญอย่างไร
ยิ่งเป็นการเดินทางไกล ยิ่งต้องการคนรู้ใจใกล้ชิด
เพราะมันหมายถึงการต้องพร้อมเผชิญกับสถานการณ์อันไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้าและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปตลอดเส้นทางงานส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของ สช. มิได้มุ่งหมายที่ตัว “นโยบายสาธารณะโดยสังคม” ตามตัวชี้วัดเชิงปริมาณและคุณภาพเท่านั้น แต่การสร้างและขยาย “พันธมิตร” ก็เป็นเป้าหมายสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะนั้น มิได้จบในขั้นตอนเดียว หรือ จบสมบูรณ์ที่ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเท่านั้นแต่มันเป็นกระบวนการที่หมุนไปตามลำดับ-ขั้นตอน จนครบวงจร และจากนั้นก็หมุนเข้าสู่วงรอบใหม่ในเรื่องเดิมในสถานการณ์ใหม่หรือในเรื่องอื่นๆ เรื่อยไป ตราบเท่าที่ชุมชนและสังคมยังมีการเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
หมายความว่า “พันธมิตร” ในมุมมองของ สช.นั้น จะเป็นทั้ง mean และ end ในเวลาเดียวกัน จุดนี้ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ประเทศทั่วโลกกำลังใช้อ้างอิงกันอยู่ในขณะนี้ SDGs มี 17 เป้าหมายประกอบเข้าด้วยกัน โดยเป้าหมายปิดท้าย ตัวที่ 17 มาหนุนเสริมเป้าหมายอื่นทั้งหมด คือ Partnership for the Goal หรือ การสร้างภาคีพันธมิตรสู่เป้าหมาย ซึ่งทีมงานของผมชี้ว่า “บทบาทของ สช.อยู่ที่จุดนี้”
สำหรับงานเสริมสร้างภาคีพันธมิตรของ สช. ผมมีแง่คิดเสนอแนะบางประการ จากประสบการณ์ส่วนตัว ดังนี้
ภาคีพันธมิตรเป็นปัจจัยสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว ผู้นำและผู้ปฏิบัติงานจึงควรมีจิตสำนึกและวิธีคิดที่เห็นคุณค่าของการรวมพลัง การสร้างความร่วมมือและการมีพันธมิตรร่วมงานอย่างแท้จริง จึงจะทำงานได้ผล ไม่ควรทำงานพันธมิตรแบบผิวเผิน หรือ ทำเพียงพิธีกรรม เพราะจะเสียแรงเปล่า
การทำงานสร้างภาคีพันธมิตร ต้องไม่คิดเชิงปฏิปักษ์-หักล้าง (Antagonist) แต่ต้องคิดในเชิงร่วมมือ-สานพลัง(Synergist) ไม่คิดในเชิงตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนของเพื่อน แต่ควรแสวงหาจุดแข็งเพื่อให้กำลังใจและเสริมพลัง
ควรเริ่มจากการคิดช่วยเพื่อนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังประโยชน์ตอบแทน พร้อมสนับสนุนให้เพื่อนสามารถทำงานของเพื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ โดยถือความสำเร็จของเพื่อนเป็นผลพลอยได้หรือผลงานทางอ้อม
แม้จะเล็งเห็นประโยชน์ร่วมที่ชัดเจนและเลิศหรูเพียงไร แต่ถ้าเพื่อนยังไม่พร้อมก็ควรรอได้ ไม่ใช้วิธีกดดัน บีบบังคับหรือวิงวอนร้องขอเป็นอันขาด เพราะมิเช่นนั้นความหมายและความสำคัญจะเปลี่ยนไป แทนที่เราจะเป็นฝ่ายไปช่วยเพื่อนทำงาน กลับกลายเป็นเราไปขอให้เพื่อนมาช่วยทำงานให้
พึงตระหนักว่า การพูดคุยและวาดความฝันโดยไม่ลงมือทำ ไม่สามารถสร้างพันธมิตรที่แท้ได้ จึงควรต้องใส่ใจให้มีกิจกรรมหรือโครงการรูปธรรมมารองรับการทำงานร่วมกัน จะในเชิงประเด็นหรือในเชิงพื้นที่ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเอื้อให้เกิดการร่วมมือในสถานการณ์จริง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสานความสัมพันธ์ร่วมกันให้ยิ่งแน่นแฟ้น
*คอลัมน์ คุยกับเลขาธิการ จากจดหมายข่าว “สานพลัง” ฉบับที่ 97 เดือน กันยายน 2561