ปฏิรูปสาธารณสุข ในยุคประยุทธ์

พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ออนไลน์  / วันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2562

 

เสียงเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ที่ดังก้องกังวานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์วิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง ปี 2553 เรื่อยมาจนกระทั่งเริ่มซาลงเมื่อมีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

เมื่อเวลาได้ผ่านไปถึง 5 ปี ความคาดหวังที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ ยังไม่มี ความรู้สึกผิดหวังจึงเกิดขึ้นในส่วนลึกของผู้คน และส่วนหนึ่งได้สะท้อนออกมาให้เห็นในปรากฏการณ์การเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม ที่เพิ่งผ่านไป อันที่จริง ถ้าสำรวจผลงานของรัฐบาลอย่างให้ความเป็นธรรม จะพบว่าในหลายโครงการ หลายนโยบาย และกฎหมายหลายต่อหลายฉบับที่รัฐบาลและสนช.ได้ดำเนินการไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย อาทิ ประเด็นประมงพาณิชย์ พรบ.ป่าชุมชน ขนส่งมวลชนระบบราง วิสาหกิจเพื่อสังคม ฯลฯ แต่การที่ประชาชนมองไม่ค่อยเห็น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ตามมาด้วยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และล่าสุดคือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ

 

4สถานการณ์ภาพรวม 

1.คนไทยเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลกันมากขึ้น

นับตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ปี 2551 คนไทยป่วยเข้าโรงพยาบาลแบบคนไข้นอก 155 ล้านครั้ง  มาปี 2560 คนไข้นอกเพิ่มเป็น 300 ล้านครั้ง  นอกจากนั้น คนไข้ในก็เพิ่มจาก120 ล้านวัน/ปี เป็น 290 ล้านวัน/ปี  ส่วนสาเหตุนั้นมาจากหลายปัจจัย ซึ่งจะไม่วิเคราะห์ในที่นี้   

 

2.คนไข้ล้นโรงพยาบาลรัฐ ไม่สามารถดูแลคุณภาพบริการ

ในเมื่อปริมาณคนไข้พุ่งทะยานแบบนี้ โรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่ถึง 1,000 โรง เป็นส่วนที่รับภาระหนักที่สุด  การเพิ่มอัตรากำลังไม่สามารถทำได้ ทั้งผลิตและบรรจุล้วนมีข้อจำกัด หมอพยาบาลทุกคนอยู่ในระบบราชการและเป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกันทุกคน มีเหนื่อยมีล้า คุณภาพบริการจึงถดถอยลงไปตามปริมาณงานที่ต้องแบกรับ นอกจากประชาชนต้องรอคิวนานแล้ว เวลาที่ได้รับการดูแลก็มีน้อยมาก ไม่เป็นที่พึงพอใจ

 

3.โรงพยาบาลเอกชนโขกราคา ยังควบคุมค่าบริการไม่ได้

ประชาชนที่มีกำลังจ่ายส่วนหนึ่ง ที่ทนรอการรักษาในโรงพยาบาลรัฐไม่ไหว พากันไปรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ก็ไปพบกับอีกปัญหาหนึ่งคือ ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงระยิบระยับ เพราะเขาต้องลงทุนและหวังผลกำไรในเชิงธุรกิจ 

ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนเติบโตกันมาก โดยเฉพาะเครือโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ๆ นอกจากนั้นยังมีปัญหาแย่งทรัพยากรไปจากภาครัฐอีก คือหมอพยาบาล เมื่อหมอพยาบาลส่วนหนึ่งไหลไปอยู่กับเอกชน ส่วนที่เหลืออยู่ก็ต้องแบกภาระงานเพิ่มขึ้นไปอีก จึงเป็นเหมือนงูกินหาง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคพากันเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในที่สุดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้ามาดูแล โดยออกเป็นมาตรการให้เปิดเผยแจกแจงโครงสร้างราคาค่าบริการ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าวิธีนี้จะได้ผลแค่ไหน

 

4.ระบบหลักประกันสุขภาพหลัก 3 กองทุน มีความเหลื่อมล้ำ

ทุกวันนี้ ประชาชนคนไทยเกือบร้อยละ 99 ต่างอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแบบใดแบบหนึ่ง ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กองทุนประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลางซึ่งดูแลข้าราชการทั้งประเทศ 

แต่ทั้งสามระบบนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพการบริการด้วย กล่าวคือ สปสช.ได้รับงบประมาณ 2,600 บาท/หัว  สปส.ได้รับงบสนับสนุน 3,000 บาท/หัว ส่วนข้าราชการรัฐจ่ายให้เฉลี่ย 13,000 บาท/หัว

 

10 แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

เพื่อแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขในระยะยาว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขได้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขเอาไว้แล้ว ประกอบ 4 ด้าน 10 ประเด็น แต่ละประเด็นจะมีแผนปฏิรูป

1.ด้านการบริหาร – มีเรื่องคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ(super board) กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขต ระบบสารสนเทศและข้อมูลสุขภาพ และกำลังคนด้านสุขภาพ

2.ด้านการบริการ – มีเรื่องระบบบริการการแพทย์ปฐมภูมิ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ฉุกเฉิน และการส่งเสริม ป้องกันและควบคุมโรค

3.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ให้บริการ – ครอบคลุมทั้งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ให้บริการและความรอบรู้เท่าทันด้านสุขภาพของประชาชน 

4.ด้านระบบงบประมาณและการจ่ายเงิน – คือเรื่องระบบสิทธิประโยชน์หลักและสิทธิประโยชน์เสริม รวมทั้งแหล่งที่มาของงบประมาณ การร่วมจ่าย และระบบการจ่ายตามคุณภาพของบริการ

 

4 ปัญหาท้าทาย  

หลังจากใช้เวลาหมดไป 5 ปี ในกระบวนการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จึงถึงเวลาที่จะต้องขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติการ แต่ยังมีประเด็นความท้าทายอย่างน้อย 4ประการ ได้แก่ รัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรม เป็นหน่วยงานผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตามแผนปฏิรูป มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆเป็นกลไกกำกับ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด

1.ปัญหาสาธารณสุขเป็นระบบที่ซับซ้อน

ระบบสาธารณสุขมีมิติที่หลากหลายและซับซ้อน การแก้ปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการใดมาตรการหนึ่งได้ จึงต้องการความเข้าใจของสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้คาดหวังอะไรที่ได้ผลรวดเร็วและยั่งยืนแบบเกินจริง ขณะเดียวกันก็ต้องการการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกันอย่างเป็นระบบ

2.มีความเข้าใจที่แตกต่าง

รัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรม เป็นหน่วยงานผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตามแผนปฏิรูป  ในขณะที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆเป็นกลไกกำกับ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด  ปัญหาความเข้าใจที่แตกต่างระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา กับกระทรวงสาธารณสุขในหลายเรื่องยังเข้าใจแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการและการกระจายอำนาจและบทบาทหน้าที่

3.องค์กรตระกูล ส.ถูกกันออกไป

ในช่วงที่ผ่านมา กระบวนการแต่งตั้งและทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข องค์กรตระกูล ส.มีสภาพเหมือนถูกกันออกไปถูกกันออกไป จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมและสำนึกความเป็นเจ้าของ ซึ่งควรได้รับการแก้ไข

4.การประสานงานข้ามวัฒนธรรม

ระหว่างรัฐบาลผสมและรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองที่หลากหลาย กับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง คปสธ.และส.ว.จะทำงานแบบสานพลัง โดยไม่เกิดการขัดแข้งขัดขากันได้อย่างไร .

 
ชื่อผู้แต่ง: 
พลเดช ปิ่นประทีป
ปีที่พิมพ์/เผยแพร่: 
2562
คำค้น: 
ปฏิรูปสาธารณสุข ในยุคประยุทธ์, ปฏิรูปสาธารณสุข