การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงผลกระทบด้านสุขภาพ ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้วกับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่จะให้ข้อมูลหลักฐานทางวิชาการและเพิ่มน้ำหนักหรือให้ความสำคัญกับมิติสุขภาพในกระบวนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี
มาตรา 10 และ 11 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติกำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไว้ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และมีสิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการประเมินผลกระทบดังกล่าว พร้อมทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความจริง ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินโครงการนโยบายสาธารณะดังกล่าวนอกจากนี้หากนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและวิธีป้องกันผลกระทบต่อประชาชนด้วย
กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
หรือจากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ ที่สามารถสื่อสารข้อมูลจากข้อเท็จจริงเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินงาน และการวางแผนการดำเนินงาน ตามขั้นตอน ดังนี้
1.การกลั่นกรองข้อเสนอนโยบายแผนงานหรือโครงการ (Screening)
2.การกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ (Public Scoping)
3.การวิเคราะห์( Analysis) และร่างรายงานการประเมินผลกระทบ (Reporting)
4.การทบทวนร่างรายงานโดยสาธารณะ ( Public Review)
5.การมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจ (Influencing)
6.การติดตามเฝ้าระวัง และการประเมินผล (Monitoring and Evaluation)
E-BOOK
บทความ