3 มติ ครม. เกี่ยวของกับหน่วยงาน

คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้

              1. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอทางนโยบายเรื่อง ผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 1

สิงหาคม 2551 ตามที่สำนักงาน คสช. เสนอ ไปพิจารณาดำเนินการดังนี้

                  1.1 ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุดและอำเภอบ้านฉาง  รวมถึงเผยแพร่วิธีป้องกันผลกระทบและวิธีการสร้างเสริมสุขภาพในภาวะมลพิษให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงโดยเร็วและต่อเนื่อง  และให้จัดทำแผนและกฎการปฏิบัติการสำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรมและการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยสารเคมีระดับจังหวัดโดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรและประชาชนในพื้นที่

                  1.2 ให้ คสช. สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกลไกกลางในการดำเนินงานและความเข้มแข็งของภาคประชาชน  ได้แก่  การศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกลไกผู้ตรวจการสำหรับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสุขภาพ  การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาคประชาชน  และการสนับสนุนภาคประชาสังคมจังหวัดระยองติดตามความเคลื่อนไหวทางนโยบายโดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่

              2. ส่วนข้อเสนอที่สำนักงาน คสช. เสนอคือ

                  2.1 ให้รัฐบาลทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง   โดยจัดตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน วางและจัดทำผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนจังหวัดระยองฉบับใหม่ ปรับปรุงระบบและมาตรการทางการคลัง และจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยอง จัดให้มีระบบและกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคม  โดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน   และจัดให้มีบริการทางสังคมซึ่งเป็นความสำคัญขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในทุกขั้นตอน

                  2.2 ให้รัฐบาลชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางในระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง   โดยให้มีการกำหนดแนวทางและกระบวนการตัดสินใจในการให้อนุมัติ/อนุญาต/ให้ความเห็นชอบการขยายโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ให้เป็นไปตามมาตรา 67ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น ให้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน รับไปพิจารณาทบทวนความเหมาะสมตามอำนาจหน้าที่

และความสอดคล้องของกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551  รวม 14 ประเด็น  และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการพร้อมทั้งปัญหาอุปสรรคเพื่อแจ้งต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติด้วย โดยมติสมัชชาสุภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย

              มติ 1.1     ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ

              มติ 1.2     การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย

              มติ 1.3     นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดน

                             ภาคใต้

              มติ 1.4     การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายการเจรจาการค้าเสรี

              มติ 1.5     เกษตรและอาหารในยุควิกฤต

              มติ 1.6     ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

              มติ 1.7     บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่ง

                             แวดล้อม

              มติ 1.8     ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

              มติ 1.9     ผลกระทบจากสื่อต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

              มติ 1.10   สุขภาวะทางเพศ : ความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม  และเรื่องเพศกับเอดส์

                             /โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

              มติ 1.11   ระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในสังคมไทย

              มติ 1.12   นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะของแรงงานนอกระบบ

              มติ 1.13   การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ 

              มติ 1.14   วิกฤตเศรษฐกิจและการปกป้องสุขภาวะคนไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้

               1. เห็นชอบข้อเสนอนโยบายการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2551 ที่เห็นชอบนโยบายการจัดการสารเคมี  ฯ  ในประเด็น “การมีส่วนร่วมของประชาชน” และ “การควบคุมโฆษณาและขายตรง” เพื่อมอบให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ตามที่สำนักงาน คสช. เสนอ

               2. ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นควรมีมาตรการสร้างความตระหนักและความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายต่าง ๆ ในวงกว้างและอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันตนเองต่อเรื่องดังกล่าว และในการควบคุมและป้องกันสารเคมีโดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนควรนำข้อคิดเห็นของสาธารณชนไปเป็นปัจจัยหนึ่งในการประกอบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนสารเคมี  โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ข้อคิดเห็น พร้อมแสดงข้อมูลและหลักฐานประกอบเพื่อสร้างความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน  นอกจากนี้ ควรส่งเสริมเรื่องระบบการเฝ้าระวังในการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายทางการเกษตร  โดยสนับสนุนให้มีกระบวนการสร้างความรู้และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เกษตรกร   และเร่งดำเนินการมาตรการรณรงค์เรื่องการลดใช้สารเคมีร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งในกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้ ประชาชนผู้บริโภค ภาคเอกชนผู้ผลิต และตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี  คณะที่ 2  ที่มีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตั้งงบประมาณปี พ.ศ. 2552  ผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ส่วนการตั้งงบประมาณปีต่อ ๆ ไป ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติตั้งงบประมาณผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี   สำหรับภาพรวมของนโยบายด้านการสาธารณสุขของประเทศ   มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินนโยบายด้านการสาธารณสุขของประเทศมีทิศทางที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  (คสช.)  รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ  สรุปได้ดังนี้  คสช. ได้จัดประชุม คสช.  ครั้งที่ 1/2550  เมื่อวันที่  23  พฤศจิกายน  2550  ซึ่งที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นประธานกรรมการ  นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นรองประธานกรรมการ  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข   และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์   สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการร่วมกัน  โดยคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ ได้มีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง  และเห็นชอบให้มีคณะทำงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ขึ้นมาทำหน้าที่วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการ   รวมทั้งจัดเวทีสาธารณะแบบมีส่วนร่วมและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์อย่างเป็นระบบ ภายในระยะแรกไม่เกิน 6 เดือน

คณะรัฐมนตรีมีมติมอบให้รองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) เป็นประธานการหารือเรื่อง

การขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรม

การสุขภาพแห่งชาติ สำนักงบประมาณ  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง  แล้วนำ

เสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้

               1. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 3 การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตามมติการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2554 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ สรุปได้ ดังนี้

                   1.1 ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ ดังนี้

                         1.1.1 ควบคุมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2551

                         1.1.2 พัฒนาและผลักดันร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. …. ให้สำเร็จในปี พ.ศ. 2555 โดยจัดให้มีกลไกดำเนินการและใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2551 เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานขั้นต่ำ และให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพิจารณาทุนการดำเนินงานจากเงินภาษีการนำเข้าหรือรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมผสมจากต่างประเทศในลักษณะเดียวกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

                         1.1.3 พัฒนากลไกการปฏิบัติ ระบบการติดตามประเมินผลและระบบรายงานผลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งระดับท้องถิ่น จังหวัด ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ

                   1.2 ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักนายกรัฐมนตรี กรมบัญชีกลาง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องศึกษาเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายสิทธิการลาคลอด และพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการลาคลอด รวมถึงการได้รับค่าจ้างระหว่างลา ในกรณีที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้จัดมาตรการหรือสวัสดิการในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่สตรีที่คลอดบุตรและอยู่ระหว่างการให้นมบุตรในสถานประกอบกิจการและสถานที่ทำงาน รวมทั้งพิจารณามาตรการการลดหย่อนภาษีและการประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบกิจการที่เป็นแบบอย่างของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

               2. ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงการคลังที่เห็นว่าการขยายสิทธิการลาคลอดให้เป็น 180 วัน มีผลกระทบต่อกฎหมายหลายฉบับ และอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานสตรี ซึ่งอาจถูกกีดกันโดยเฉพาะภาคเอกชน เป็นการลดโอกาสในการทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การขยายสิทธิลาคลอดเกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง ไปประกอบการพิจารณาด้วย

คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้

               1. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 1 มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ตามมติการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2554 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นควรมีการบริหารจัดการการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินในวัสดุต่าง ๆ ที่หมดอายุการใช้งานในชุมชน และส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อผลิตผลงานผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย นอกจากนี้ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลผลกระทบกับผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยให้มีผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง (Third party) เข้าร่วมการหารือด้วย รวมทั้งให้กระทรวงการคลังและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาร่วมกันถึงความเหมาะสมในส่วนของการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

               2. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ แนวทางที่ 2 ห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์เฉพาะกรณี และห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ ที่ใช้วัตถุดิบอื่นหรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตามความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรม

               3. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปจัดทำแผนในการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิด ทั้งนี้ ให้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการตามแผนด้วย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

               4. ให้กระทรวงการคลังรับไปตรวจสอบว่า สาเหตุที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบอื่นเป็นส่วนประกอบแทนแร่ใยหินมีราคาสูงขึ้นเนื่องมาจากต้นทุนหรือการเพิ่มอัตราภาษี

               5. ให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปศึกษาผลกระทบของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหินและผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินโดยให้จัดลำดับความสำคัญเพื่อจะได้กำหนดมาตรการในการป้องกันผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ปคค.) รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การพัฒนาระบบการเงินการคลังสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้

               1. นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553

               2. คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 และได้ออกระเบียบสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขว่าด้วยการบริหารงานของสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2553 นอกจากนั้นได้แต่งตั้งให้นายเทียม อังสาชน เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่  1พฤศจิกายน 2553 และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553

               3. คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ พร้อมทั้งได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553

               4. นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554

               5. สำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติอยู่ระหว่างเตรียมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติเพื่อเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป

คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้

               ๑. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ โดยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ มี ดังนี้

                   ๑.๑ ให้รัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) นำแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยที่จะลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรม นำไปสู่สังคมสุขภาวะ ในประเด็นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากร สังคมและสุขภาวะ ประชาธิปไตยและการเมือง การศึกษา และสื่อทุกประเภทในทุกระดับ

                   ๑.๒ ให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๗ (๑) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น โดยให้มีการปฏิรูปกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และมีการดำเนินงานที่เร่งด่วน ดังนี้

                         ๑.๒.๑ ให้มีภาคีเครือข่ายประชาชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดทำให้เกิดกระบวนการนโยบายสาธารณะที่เป็นธรรม ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน

                         ๑.๒.๒ ให้มีการกำหนดกรอบและกติการ่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการปฏิรูป

                         ๑.๒.๓ พัฒนากลไกเพื่อการปฏิรูประบบการวิจัยแห่งชาติและระบบการสร้างปัญญาสาธารณะ

                         ๑.๒.๔ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาสมรรถนะของสังคมและระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามให้ความเห็นอย่างจริงจังในกลไกพหุภาคีและเครื่องมือที่มีอยู่ในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดจากนโยบายของรัฐ

                         ๑.๒.๕ จัดให้มีกลไกการจัดการความไม่เป็นธรรม ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือกลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น

               ๒. ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อจัดทำรายละเอียดในแต่ละประเด็นตามแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง การนำมติไปสู่การปฏิบัติควรจัดลำดับความสำคัญและทำการศึกษาให้ชัดเจนก่อนกำหนดแนวทางและมาตรการที่จะดำเนินการ การกำหนดแนวทางการติดตามประเมินผลควรคำนึงถึงความเชื่อมโยงและการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกัน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งข้อมูลที่เป็นมติ รายงานการประชุมคณะกรรมการคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ผลการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน และความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเด็นการให้มีการจำกัดสิทธิการถือครองที่ดิน เน้นการส่งเสริมการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสมรรถนะของดินและภูมินิเวศ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย