มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ ที่มีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นการเฉพาะ (เรื่อง ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ)
10 มิถุนายน 2023
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ โดยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ มี ดังนี้
๑.๑ ให้รัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) นำแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยที่จะลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรม นำไปสู่สังคมสุขภาวะ ในประเด็นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากร สังคมและสุขภาวะ ประชาธิปไตยและการเมือง การศึกษา และสื่อทุกประเภทในทุกระดับ
๑.๒ ให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๗ (๑) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น โดยให้มีการปฏิรูปกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และมีการดำเนินงานที่เร่งด่วน ดังนี้
๑.๒.๑ ให้มีภาคีเครือข่ายประชาชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดทำให้เกิดกระบวนการนโยบายสาธารณะที่เป็นธรรม ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน
๑.๒.๒ ให้มีการกำหนดกรอบและกติการ่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการปฏิรูป
๑.๒.๓ พัฒนากลไกเพื่อการปฏิรูประบบการวิจัยแห่งชาติและระบบการสร้างปัญญาสาธารณะ
๑.๒.๔ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาสมรรถนะของสังคมและระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามให้ความเห็นอย่างจริงจังในกลไกพหุภาคีและเครื่องมือที่มีอยู่ในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดจากนโยบายของรัฐ
๑.๒.๕ จัดให้มีกลไกการจัดการความไม่เป็นธรรม ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือกลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น
๒. ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อจัดทำรายละเอียดในแต่ละประเด็นตามแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง การนำมติไปสู่การปฏิบัติควรจัดลำดับความสำคัญและทำการศึกษาให้ชัดเจนก่อนกำหนดแนวทางและมาตรการที่จะดำเนินการ การกำหนดแนวทางการติดตามประเมินผลควรคำนึงถึงความเชื่อมโยงและการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกัน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งข้อมูลที่เป็นมติ รายงานการประชุมคณะกรรมการคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ผลการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน และความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเด็นการให้มีการจำกัดสิทธิการถือครองที่ดิน เน้นการส่งเสริมการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสมรรถนะของดินและภูมินิเวศ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย