Skip to content Skip to main navigation Skip to footer

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

คณะรัฐมนตรีมีมติ

               1. รับทราบมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ ดังนี้

                   1.1 เห็นชอบต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เรื่อง การแก้ปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยให้นำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือตอนบนปี 2556 และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2556 เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 และ 21 มกราคม 2556 พิจารณาประกอบเพื่อให้สอดคล้องกัน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

                   1.2 รับทราบการประสานความร่วมมือด้านงบประมาณของรองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายประดิษฐ สินธวณรงค์) กับสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการจัดการปัญหาหมอกควันที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

               2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ไปพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เห็นควรสร้างแนวกันไฟโดยปลูกพืชที่เหมาะสม เช่น พืชที่อุ้มน้ำมาก ๆ เพื่อลดความรุนแรงของไฟป่า การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพทั้งการป้องกันปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากหมอกควันและการรักษาเมื่อเกิดปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากหมอกควัน การสำรวจและวิจัยอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทราบข้อมูลสาเหตุปัญหาที่แท้จริงในระดับพื้นที่ และการประสานความร่วมมือกับท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลระดับพื้นที่ที่ประสบปัญหาและมีความสามารถในการสร้างความมีส่วนร่วมและเป็นที่ยอมรับของชุมชนเพื่อให้เกิดการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ยั่งยืน สำหรับมาตรการลดการเผาและการไม่ให้มีการเผา โดยเน้นการควบคุมปราบปรามอย่างเข้มงวด อาจกระทบต่อบางพื้นที่และป่าบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องใช้วิธี “ชิงเผา” เพื่อกำจัดเชื้อเพลิงและป้องกันการลุกลามของไฟป่าอย่างรุนแรง จึงเห็นควรมุ่งเน้นการบริหารจัดการช่วงเวลาในการเผา และวิธีการใช้ไฟให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งควรเร่งศึกษาวิจัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทดแทนการเผาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เพื่อชักจูงให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสมัครใจ ไปประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย

admin
Author: admin